วันจันทร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2553

ประวัติลิลิตตะเลงพ่าย


ลิลิตตะเลงพ่าย
ลิลิตตะเลงพ่าย เป็นบทประพันธ์ประเภทลิลิต ประพันธ์ขึ้นโดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสและ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ เพื่อสดุดีวีรกรรมของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในวาระงานพระราชพิธีฉลองตึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ที่ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ เมื่อพุทธศักราช ๒๓๗๕ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โดยตะเลงในที่นี้หมายถึง มอญมีอยู่ ๒ ฉบับ คือ
ลิลิตตะเลงพ่าย ฉบับร้อยกรอง
ลิลิตตะเลงพ่าย ฉบับร้อยแก้ว
ในแต่ละฉบับแบ่งออกเป็น ๑๒ ตอน สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงนิพนธ์ร่วมกับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ (พระองค์เจ้ากปิษฐาขัตติยกุมาร)
ประวัติลิลิตตะเลงพ่าย
            สมเด็จพระมหาสมณเจ้า  กรมพระปรมานุชิตชิโนรส   เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่  7  แห่งกรุงรัตนโกสินทรฺ  และเป็นเชื้อพระวงศ์พระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีสมณศักดิ์สูงสุดในทางพระพุทธศาสนา   พระนามเดิมว่า  พระองค์เจ้าวาสุกรี   เป็นพระเจ้าลูกยาเธอองค์ที่  28  ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและเจ้าจอมมารดาจุ้ย
             พระองค์เจ้าวาสุกรี  ประสูติ ณ  วันเสาร์  เดือนอ้าย  ขึ้น  5  ค่ำ  ปีจอ  จุลศักราช  1152  ตรงกับวันที่  11  ธันวาคม  พุทธศักราช  2333  เมื่อมีพระชันษาได้ 12 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร  ประทับอยู่   วัดพระเชตุพน  และทรงศึกษาอยู่ในสำนักของสมเด็จพระวันรัต    พระองค์ได้ผนวชเป็นพระภิกษุในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย    และในรัชกาลนี้ได้โปรดให้พระองค์เจ้าวาสุกรีได้ทรงกรมเป็นครั้งแรก  เป็น  "กรมหมื่นนุชิตชิโนรส  ศรีสุคตขัติยวงศ์"   ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้กรมหมื่นนุชิตชิโนรสฯทรงบังคับัญชาวัดต่าง ๆ ในกรุงเทพฯเสมอพระราชาคณะ    ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดให้เลื่อนกรมหมื่นนุชิตชิโนรสฯ เป็น กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสศรีสุคตขัติยวงศ์บรมพงศาธิบดี  จักรีบรมนาถ  ปฐมพันธุมหาชวรางกูร  
              กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส   สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคชรา  เมื่อวันศุกร์  เดือนอ้าย ขึ้น 9 ค่ำ  ตรงกับวันที่  9  ธันวาคม  พุทธศักราช  2396   พระชนมายุได้  63 พรรษา  4 วัน   และในฐานะที่ทรงเป็นประมุขที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงศรัทธามาก  จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระศพจากวัดพระเชตุพนไปประดิษฐาน ณ พระเมรุที่ท้องสนามหลวง  แล้วพระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันเสาร์ที่ 8 เมษายน  ขึ้น  11 ค่ำ  เดือน  5  พุทธศักราช  2397   เมื่อพระราชทานเพลิงพระศพแล้ว   พระบาทสมเด็จพะจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้เชิญพระอัฐิไปประดิษฐานไว้ที่พระตำหนักวัดพระเชตุพน   และโปรดให้มีตำแหน่งฐานานุกรมรักษาพระอัฐิต่อมา    ถึงเวลาเข้าพรรษา พระองค์ก็เสด็จพระราชดำเนินไปถวายพุ่มบูชาพระอัฐิทุกปี  เมื่อถึงวันเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานพระกฐินที่วัดพระเชตุพน  ก็โปรดฯ  ให้เชิญพระอัฐิไปประดิษฐานที่ในพระอุโบสถ  ทรงสักการะบูชาแล้วผ้าไตรปี   โปรดฯ ให้พระฐานานุกรมพระอัฐิสดับปกรณ์เป็นประเพณีเช่นนี้ตลอดมาตั้งแต่รัชกาลที่  4  จนกระทั่งถึงรัชกาลปัจจุบัน    ถึงรัชกาลที่ 6  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสถาปนากรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสขึ้นเป็น "สมเด็จพระมหาสมณเจ้า  กรมพระปรมานุชิตชิโนรส"
                สมเด็จพระมหาสมณเจ้า  กรมพระปรมานุชิตชิโนรส  นอกจากจะทรงพระเกียรติคุณในทางคติธรรมแล้ว  ยังทรงพระเกียรติคุณในทางคดีโลกด้วย  คือ  ได้รับการยกย่องว่า  ทรงเป็นรัตนกวีพระองค์หนึ่งในยุครัตนโกสินทร์ 
               คำประพันธ์ที่ทรงใช้ในการนิพนธ์  เรียกว่า ลิลิต  เป็นลิลิตสุภาพ ประกอบด้วยร่ายสุภาพและโคลงสุภาพ   โคลงที่ใช้มีทั้ง โคลง 2  โคลง 3   และโคลง 4   ตอนท้ายเป็นโคลงกระทู้ซึ่งเป็นลักษณะคำประพันธ์ที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า  กรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงนิยมใช้ในการนิพนธ์ปิดท้ายวรรณคดีที่ทรงนิพนธ์เกือบทุกเรื่อง
ลักษณะการแต่ง
แต่งด้วยลิลิตสุภาพ ประกอบด้วย ร่ายสุภาพ โคลงสองสุภาพ โคลงสามสุภาพ และโคลงสี่สุภาพ แต่งสลับกันไป จำนวน ๔๓๙ บท โดยได้แบบอย่างการแต่งมาจากลิลิตยวนพ่ายที่แต่งขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น ลิลิตเปรียบได้กับงานเขียนมหากาพย์ จัดเป็นวรรณคดีประเภทเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์
คำประพันธ์ที่ใช้แต่ง
       เรื่องลิลิตตะเลงพ่ายแต่งด้วยคำประพันธ์ประเภท ร่ายสุภาพ   โคลงสี่สุภาพ  โคลงสามสุภาพ   และโคลงสองสุภาพ
      ลักษณะบังคับของร่ายสุภาพ   ร่ายสุภาพบทหนึ่งมีตั้งแต่  5 วรรคขึ้นไป  และตอนท้ายต้องจบด้วยโคลงสองสุภาพ   ร่ายสุภาพแต่ละวรรคกำหนดให้มี  5  คำ  เมื่อรวมกับโคลงสองสุภาพแล้วจะได้แผนผังดังนี้
          ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐     ๐ ๐ ๐ ๐ ๐       ๐ ๐ ๐ ๐ ๐       ๐ ๐ ๐ ๐ ๐   ฯลฯ    

๐ ๐ ๐ ๐   (ต่อไปเป็นโคลงสองสุภาพ) ๐ ๐ ๐ อ ท   ๐ อ ๐ ๐ ท       อ ท ๐ ๐ (๐ ๐)

                        สำหรับสัมผัสบังคับของร่ายสุภาพ  กำหนดให้คำสุดท้ายของวรรคหน้าส่งสัมผัสไปยังคำที่ 1 หรือที่ 2 หรือที่ 3  เพียงดำใดคำหนึ่งในวรรคถัดไป   การส่งสัมผัสเป็นไปเช่นนี้จนกระทั่งจบด้วยโคลงสองสุภาพ   ส่วนสัมผัสในซึ่งเป็นสัมผัสที่ไม่บังคับในร่ายสุภาพใช้ไดทั้งสัมผัสพยัญชนะและสัมผัสสระ  แต่นิยมสัมผัสพยัญชนะมากกว่า   
    ตัวอย่างร่ายสุภาพ.............
            เสร็จเสาวนีย์สั่งสนม     เนืองบังคมคำราช     พระบาทบทันนิทรา     จวนเวลาล่วงสาง       พื้นนภางค์เผือดดาว   แสงเงินขาวขอบฟ้า     แสงทองจ้าจับเมฆ........ฯลฯ..........ขอลาองค์ท่านไท้    ไปเผด็จดัสกรให้   เหือดเสี้ยนศึกสยาม   สิ้นนา
โคลงสามสุภาพ            
          โคลงสามสุภาพบทหนึ่งมี  4 วรรค ๆ ละ 5 คำ  ยกเว้นวรรคสุดท้ายซึ่งมี 4 คำ และมีคำสร้อยตอนท้ายอีก 2 คำ  ดังแผนผังโคลงสามสุภาพดังนี้
   ๐ ๐ ๐ ๐ ๐       ๐ ๐ ๐ อ ท
๐ ๐ ๐ ๐ ท          อ ท ๐ ๐ (๐ ๐)
             สัมผัสโคลงสามสุภาพกำหนดให้คำสุดท้ายของวรรคแรกส่งสัมผัสไปยังคำที่ 3 ของวรรคที่ 2  และคำสุดท้ายของวรรคที่ 2 ส่งสัมผัสไปยังคำสุดท้ายของวรรคที่ 3  
  ตัวอย่างโคลงสามสุภาพ...........   ล่วงลุด่านเจดีย์        สามองค์มีแห่งหั้น
                                                        แดนต่อแดนกันนั้น          เพื่อรู้ราวทาง
ลักษณะบังคับของโคลงสองสุภาพ
 โคลงสองสุภาพบทหนึ่งมี  3 วรรค ๆ หนึ่งมี 5 คำ   ยกเว้นวรรคสุดท้ายมีเพียง  4  คำ  ในตอนท้ายมีคำสร้อยได้ 2 คำ  ดังแผนผังดังนี้
๐ ๐ ๐ อ ท       ๐ อ ๐ ๐ ท
             อ ท ๐ ๐ (๐ ๐)
               สัมผัสของโคลงสองสุภาพมีเพียงแห่งเดียว คือคำสุดท้ายของวรรคแรกส่งสัมผัสไปยังคำสุดท้ายของวรรคที่ 2  
ตัวอย่างโคลงสองสุภาพ........  พระฟังความลูกท้าว     ลาเสด็จศึกด้าว
                                                                       ดั่งเบื้องบรรหาร
ลักษณะบังคับของโคลงสี่สุภาพ   
           โคลงสี่สุภาพบทหนึ่งมี 4 บาท  แต่ละบาทประกอบด้วย 2 วรรค  คือ  วรรคหน้า 5 คำ   วรรหลัง 2 คำ ยกเว้นบาทที่ 4 ที่มีวรรคหลัง 4 คำ  นอกจากนี้ในบาทที่ 1 และบาทที่ 3  อาจมีสร้อยคำได้อีกบาทละ 2 คำ  ดังแผนผังดังนี้
    ๐ ๐ ๐ อ ท       ๐ ๐ (๐ ๐)
๐ อ ๐ ๐ ๐                 อ ท
๐ ๐ อ ๐ ๐                ๐ อ (๐ ๐)
๐ อ ๐ ๐ ท                อ ท ๐ ๐
               โคลงสี่สุภาพบังคับคำเอก 7 คำ   คำโท  4 คำ  โดยถือรูปวรรณยุกต์เป็นเกณฑ์  และคำเอกอาจใช้คำตายแทนได้   สัมผัสโคลงสี่สุภาพได้แก่  คำสุดท้ายของบาทที่ 1(ไม่นับคำสร้อย)  ส่งสัมผัสไปยังคำที่ 5 ของบาทที่ 2 และบาทที่ 3  คำสุดท้ายของบาทที่ 2  ส่งสัมผัสไปยังคำที่ 5 ของบาทที่ 4   ส่วนสัมผัสในของโคลงสี่สุภาพนิยมสัมผัสอักษร 
ตัวอย่างโคลงสี่สุภาพ........   กระเต็นกระตั้วตื่น      แตกคน
                                           ยูงย่องยอดยูงยล           โยกย้าย
                                           นกเปล้านกปลีปน           ปลอมแปลก  กันนา
                                           คล่ำคล่ำคลิ้งโคลงคล้าย     คู่เคล้าคลอเคลีย

เนื้อเรื่อง

เริ่มต้นชมบุญบารมีและพระบรมเดชานุภาพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แล้วดำเนินความตามประวัติศาสตร์ว่า พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงทรงทราบว่า สมเด็จพระมหาธรรมราชา เสด็จสวรรคต สมเด็จพระนเรศวรได้ครองราชย์สมบัติ พระองค์จึงตรัสปรึกษาขุนนางทั้งปวงว่ากรุงศรีอยุธยาผลัดเปลี่ยนกษัตริย์ สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถ พระพี่น้องทั้งสองอาจรบพุ่งชิงความเป็นใหญ่กัน ยังไม่รู้เหตุผลประการใด ควรส่งทัพไปเหยียบดินแดนไทย เป็นการเตือนสงครามไว้ก่อน ถ้าเหตุการณ์เมืองไทยไม่ปกติสุขก็ให้โจมตีทันที ขุนนางทั้งหลายก็เห็นชอบตามพระราชดำรีนั้น พระจ้าหงสาวดีจึงตรัสให้ พระมหาอุปราชเตรียมทัพร่วมกับพระมหาราชเจ้านครเชียงใหม่ แต่พระมหาอุปราชกราบทูลพระบิดาว่าโหรทายว่าชันษาของพระองค์ร้ายนัก

สมเด็จพระเจ้าหงสาวดีตรัสว่าพระมหาธรรมราชาไม่เสียแรงมีโอรสล้วนแต่เชี่ยวชาญกล้าหาญในศึกมิเคยย่อท้อการสงคราม ไม่เคยพักให้พระราชบิดาใช้เลยต้องห้ามเสียอีก และ หวาดกลัวพระราชอาญาของพระบิดายิ่งนัก จึงเตรียมจัดทัพหลวงและทัพหัวเมืองต่างๆ เพื่อยกมาตีไทย ขณะนั้นสมเด็จพระนเรศวรเตรียมทัพจะไปตีกัมพูชาเป็นการแก้แค้นที่ถือโอกาสรุกรานไทยหลายครั้งระหว่างที่ไทยติดศึกกับพม่า พอสมเด็จพระนเรศวรทรงทราบข่าวศึกก็ทรงถอนกำลังไปสู้รบกับพม่าทันที ทัพหน้ายกล่วงหน้าไปตั้งที่ตำบลหนองสาหร่าย

ฝ่ายพระมาหาอุปราชาทรงคุมทัพมากับพระเจ้าเชียงใหม่รี้พลรบ 5 แสน เข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ ทรงชมไม้ ชมนก ชมเขา และคร่าครวญถึงพระสนมกำนัลมาตลอดจนผ่านไทรโยคลำกระเพิน และเข้ายึดเมืองกาญจนบุรีได้โดยสะดวก ต่อจากนั้นก็เคลื่อนพลผ่านพนมทวนเกิดลางร้ายลมเวรัมภาพัดฉัตรหัก ทรงตั้งค่ายหลวงที่ตำบลตระพังตรุ ฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถทรงเคลื่อนพยุหยาตราทางชลมารค ไปขึ้นบกที่ปากโมก บังเกิดศุภนิมิต ต่อจากนั้นทรงกรีฑาทัพทางบกไปตั้งค่ายที่ตำบลหนองสาหร่าย เมื่อทรงทราบว่าพม่าส่งทหารมาลาดตะเวน ทรงแน่พระทัยว่าพม่าจะต้องโจมตีกรุงศรีอยุธยาเป็นแน่ จึงรับสั่งให้ทัพหน้าเข้าปะทะข้าศึกแล้ว ล่าถอยเพื่อลวงข้าศึกให้ประมาท แล้วสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับสมเด็จพระเอกาทศรถทรงนำทัพหลวงออกมาช่วย ช้างพระที่นั่งลองเชือกตกมันกลับเขาไปในหมู่ข้าศึกแม่ทัพนายกองตามไม่ทัน สมเด็จพระนเรศวรมหาราชตรัสท้าพระมหาอุปราชากรำยุทธหัตถีจนมีชัยชนะ พระมหาอุปราชาขาดคอช้าง สมเด็จพระเอกาทศรถกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะแก่มังจาชโร

เมื่อกองทัพพม่าแตกพ่ายไปแล้วสมเด็จพระนเรศวรมาหาราชรับสั่งให้สร้างสถูปเจดีย์เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระมหาอุปราชา เสด็จแล้วจึงเลิกทัพกลับกรุงศรีอยุธยา เป็นอับดับจบเนื้อเรื่อง

ตอนที่  1       "เริ่มบทกวี"
                        ยอพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว   ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่กำลังปกครองบ้านเมืองในสมัยของผู้ทรงนิพนธ์

ตอนที่  2  "เหตุการณ์ทางเมืองมอญ"
                          พระเจ้านันทบุเรง  กษัตริย์พม่าทรงทราบข่าวการสวรรคตของพระมหาธรรมราชา (พ.ศ.2133)  จึงมีรับสั่งให้พระมหาอุปราชานำทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาด้วยคาดว่า  สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถอาจวิวาทชิงราชสมบัติกัน   เป็นโอกาสเหมาะที่จะทำศึก      ในตอนแรกพระมหาอุปราชาทรงบ่ายเบี่ยงด้วยโหรหลวงทำนายว่าจะมีเคราะห์ถึงแก่ชีวิต   แต่เมือพระเจ้านันทบุเรงบริภาษ  จึงเกิดขัตติยมานะเสด็จทำสงคราม   โดยพระเจ้านันทบบัเรงได้พระราชทานพรให้ชนะศึกและพระบรมราโชวาท  ดังนี้
                        1.  อย่าหูเบาใจเบา   โดยฟังหรือดูอะไรอย่างผิวเผิน
                        2.  อย่าทำอะไรตามใจตนเองโดยไม่คิดถึงผู้อื่น
                        3.  ให้เอาใจทหารให้มีกำลังใจฮึกเหิม กล้าหาญในการสู้รบเสมอ
                        4.  อย่าไว้ใจคนขลาดและคนเขลา
                        5.  รอบรู้ในการจัดกระบวนทัพ
                        6.  รู้หลักพิชัยสงคราม
                        7.  ให้บำเหน็จความดีความชอบแก่แม่ทัพนายกองที่เก่งกล้าสามารถ
                        8.  พากเพียรไม่เกียจคร้าน
  ตอนที่   3  "พระมหาอุปราชายกทัพเข้าเมืองกาญจนบุรี"
                        พระมหาอุปราชายกกองทัพมาถึงด่านเจดีย์สามองค์  ซึ่งเป็นด่านระหว่างพม่ากับไทย  ก็ทรงขับทหารให้รุกเข้ามาในแดนไทย     เมื่อพระมหาอุปราชายกทัพมาถึงตำบลพนมทวน  เกิดลมเวลัมภาพัดฉัตรหัก   โหรทำนายว่าลมนี้เกิดตอนเช้าไม่ดี   ถ้าเกิดยามเย็นจะดีพระมหาอุปราชาจะได้ชนะไทย   พระมหาอุปราชาทรงฟังแล้วยังไม่เชื่อสนิท   ทรงคร่ำครวญถึงพระบิดาว่า  ถ้าพระองค์สิ้นพระชนม์ในการสงคราม   พระบิดาจะได้ใครช่วยเหลือ       ทางฝ่ายไทย  เจ้าเมืองสิงห์บุรี  สรรค์บุรี   สุพรรณบุรี  ก็ให้ชาวเมืองอพยพครอบครัวหนีไปอยู่ในป่า  แล้วทำหนังสือมากราบทูลสมเด็จพระนเรศวรให้ทรงทราบข่าวศึก
  
ตอนที่  4   "สมเด็จพระนเรศวรทรงปรารภเรื่องตีเมืองเขมร"
                        ทางกรุงศรีอยุธยา  สมเด็จพระนเรศวรเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ  ทรงปกครองแผ่นดินโดยธรรมราษฎรอยู่ร่มเย็นเป็นสุข   พระองค์โปรดฯให้เตรียมทัพจะไปตีเขมร   แต่ทรงทราบข่าวศึกพม่าจากทูตเมืองกาญจนบุรีจึงทรงระงับเรื่องการไปตีเขมร
              
ตอนที่  5   "สมเด็จพระนเรศวรทรงเตรียมการสู้ศึกมอญ"
                        สมเด็จพระนเรศวรโปรดฯ ให้พระศรีไสยณรงค์เป็นทัพหน้า   พระราชฤทธานนท์เป็นปลัดทัพหน้าไปยับยั้งข้าศึก   ทั้งสองยกทัพมาตั้งค่ายอยู่ที่หนองสาหร่าย  สุพรรณบุรีในชัยภูมิที่เรียกว่า  สีหนาม

ตอนที่   6  "สมเด็จพระนเรศวรทรงตรวจเตรียมทัพ"
        สมเด็จพระนเรศวรโปรดฯ ให้หาฤกษ์ยามในการเคลื่อนทัพหลวง   ญาณโยคโลกทีป โหรหลวงถวายพยากรณ์ว่า  สมเด็จพระนเรศวรได้จตุรงคโชคคือ  1. โชคดี   2. วัน เดือน ปี แห่งการรบดี   3. กำลังทหารเข็มแข็ง     4. อาหารสมบูรณ์   และให้เสด็จเคลื่อนทัพจากกรุงศรีอยุธยาในวันอาทิตย์ขึ้นสิบเอ็ดค่ำ  เดือนยี่  เวลา 8.30 นาฬิกา    สมเด็จพระนเรศวรเสด็จกรีธาทัพเรือจากอยุธยาไปขึ้นบกที่ปากโมก  จังหวัดอ่างทอง   เมื่อทรงพักแรมที่ปากโมกได้เสวยสุบินนิมิตเป็นเทพสังหรณ์  คือ   เทวดามาบันดาลให้สุบินว่ามีน้ำท่วมมกาทางทิศตะวันตก  พระองค์เสด็จลุยกระแสน้ำเชี่ยวไปปะทะจระเข้ใหญ่ สามารถฆ่าจระเข้ตาย   น้ำที่ท่วมมานั้นก็เหือดแห้งไป   โหรทำนายว่าพระองค์จะได้ทำยุทธหัตถีและชนะศึกครั้งนี้    เมื่อจะเสด็จกรีธาทัพบกจากปากโมก  ขณะคอยฤกษ์งามยามดีก็ได้ทอดพระเนตรเห็นพระบรมสารีริกธาตุส่องแสงสว่างงดงาม ขนาดเท่าผลส้มเกลี่ยงลอยมาจากทิศใต้   และหมุนเวีรยนขวารอบกองทัพสามรอบแล้วลอยไปทางทิศเหนือ  นับว่าเป็นศุภนิมิตที่ดียิ่ง
                        เมื่อได้ฤกษ์ยาม  สมเด็จพระนเรศวรทรงช้างชื่อเจ้าพระยาไชยนุภาพ  และสมเด็จพระเอกาทศรถทรงช้างชื่อเจ้าพระยาปราบไตรจักร  เสด็จกรีธาทัพจากปากโมกถึงหนองสาหร่าย  แล้วโปรดฯ ให้ตั้งค่ายทัพหลวงที่หนองสาหร่าย  ต่อกับค่ายทัพหน้าในชัยภูมิที่เรียกว่า  ครุฑนาม

ตอนที่  7   "พระมหาอุปราชาทรงปรึกษาการศึกแล้วยกทัพเข้าปะทะทัพหน้าของไทย"
พระมหาอุปราชาทรงใช้ให้กองลาดตระเวนมาสืบข่าวกองทัพไทย  กองลาดตระเวนซึ่งมีสมิงอะคร้านเป็นขุนกอง  สมิงเป่อปลัดทัพ  กับสมิงซายม่วน  มาสืบข่าวถึงหนองสาหร่ายเห็นกำลังกองทัพไทยมีกำลังเพียง 17-18 หมื่น  แต่กองทัพพม่ามีถึง 50 หมื่นมากกว่าเกือบสามเท่า   จึงรับสั่งให้กองทัพพม่ารีบเข้าโจมตีทัพไทยให้แตกพ่ายไป   กองทัพพม่าออกเดินทางตั้งแต่ตีห้า  มาปะทะทัพหน้าของไทย  ซึ่งมีพลห้าหมื่นจัดทัพเป็นตรีเสนาเก้ากอง  มีผังทัพดังนี้
                        กองหน้า         ปีกซ้าย         นายกองหน้า      ปีกขวา
                                         เจ้าเมืองธนบุรี              พระยาสุพรรณบุรี      เจ้าเมืองนนทบุรี

                        กองหลวง         ปีกซ้าย             แม่ทัพ              ปีกขวา
                                         เจ้าเมืองสรรค์บุรี         พระยาศรีไสยณรงค์    เจ้าเมืองสิงห์บุรี

                        กองหลัง         ปีกซ้าย             ปลัดทัพ     ปีกขวา
                                       เจ้าเมืองชัยนาท           พระราชฤทธานนท์      พระยาวิเศษชัยชาญ

                        กองทัพหน้าของไทยต่อสู้ทัพพม่าอย่างสุดกำลังความสามารถ  แต่กำลังน้อยกว่าจึงสู้พลางถอยพลาง

ตอนที่  8   "สมเด็จพระนเรศวรทรงปรึกษายุทธวิธีเอาชนะข้าศึก"
      ในขณะที่สมเด็จพระนเรศวรโปรดฯ ให้ทำพิธีเบิกโขลนทวารและตัดไม้ข่มนาม  ก่อนจะเคลื่อนกองทัพหลวง   ทรงได้ยินเสียงรบพุ่งจึงให้หมื่นทิพเสนาไปสืบข่าวทรงทราบว่าทัพหน้าไทยต้านทานพม่าไม่ได้   จึงโปรดฯ ให้ทัพหน่าล่าทัพมาโดยไม่รั้งรอเพื่อให้พม่าตามมาอย่างไม่เป็นขบวน  และทัพหลวงของไทยจะได้โอบล้อมโจมตีทัพพม่าให้แตกพ่าย

ตอนที่  9   "ทัพหลวงเคลื่อนพล   ช้างทรงสมเด็จพระนเรศวรและพระเอกาทศรถฝ่าเข้าไปในกองทัพข้าศึก"

                        สมเด็จพระนเรศวรโปรดฯ ให้เคลื่อนกองทัพหลวง  ช้างทรงเจ้าพระยาไชยานุภาพและเจ้าพระยาปราบไตรจักรตกมันควาญช้างบังคับไม่อยู่  พาทั้งสองพระองค์และควาญช้างเข้าไปท่ามกลางข้าศึก

ตอนที่  10  "ยุทธหัตถี และชัยชนะของไทย"
            สมเด็จพระนเรศวรทรงแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า  โดยทรงท้าพระมหาอุปราชาทำยุทธหัตถี     ช้างทรงของพระองค์เสียที   พระมหาอุปราชาจึงทรงฟันด้วยพระแสงของ้าว   สมเด็จพระนเรศวรเบี่ยงพระองค์หลบและใช้พระแสงของ้าวรับอาวุธพระมหาอุปราชาไว้ทัน    เมื่อเจ้าพระยาไชยานุภาพได้ล่างงัดพลายพัทธกอ    ช้างทรงของพระมหาอุปราชาให้เสียที   สมเด็จพระนเรศวรจึงทรงใช้พระแสงของ้าวฟันพระมหาอุปราชาขาดสะพายแล่ง   และสมเด็จพระเอกาทศรถก็สามารถฟันมางจาชโร   พี่เลี้ยงพระมหาอุปราชาให้ขาดคอช้างได้   ควาญช้างสมเด็จพระนเรศวรคือนายมหานุภาพ และกลางช้างของสมเด็จพระเอกาทศรถคือหมื่นภักดีศวรถูกปืนข้าศึกตายในสนามรบ    ที่รอดชีวิตคือเจ้ารามราฆพซึ่งเป็นกลางช้างของสมเด็จพระนเรศวรและขุนศรีคชคงซึ่งเป็นควาญช้างของสมเด็จพระเอกาทศรถ  ภายหลัง แม่ทัพนายกองทั้งหลายของไทยจึงตามมาทัน ช่วยกันไล่ฟันทหารพม่าตายมากมาย
ตอนที่  11  "สมเด็จพระนเรศวรทรงสร้างสถูปและปูนบำเหน็จทหาร"
สมเด็จพระนเรศวรโปรดฯ ให้สร้างพระสถูปครอบพระศพพระมหาอุปราชาไว้ที่ตำบลตระพังตรุ   แล้วโปรดฯ ให้เจ้าเมืองมล่วนนำข้อความไปกราบทูลพระเจ้านันทบุเรงว่า  พระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์ในการสงครามยุทธหัตถีครั้งนี้   แล้วจากนั้นจึงเสด็จกรีธาทัพกลับกรุงศรีอยุธยา   สมเด็จพระนเรศวรโปรดฯ ให้ปูนบำเหน็จความชอบแก่กลางช้างและควาญช้างของพระองค์และของสมเด็จพระเอกาทศรถ   แล้วโปรดฯ ให้ตัดสินลงโทษแม่ทัพนายกองที่ตามเสด็จไม่ทันตามกฎอัยการศึก  คือ  ให้ประหารชีวิต   แต่เนื่องจากวันรุ่งขึ้นจะเป็นวันอุโบสถ  คือ  วันพระ   แรม  15 ค่ำ   จึงโปรดฯ ให้จองจำแม่ทัพนายกองไว้กอง   และให้ประหารชีวิตในวันขึ้น 1 ค่ำ
ตอนที่   12   "สมเด็จพระวันรัตขอพระราชทานอภัยโทษ"
ถึงวันแรม 15 ค่ำ  สมเด็จพระวันรัตวัดป่าแก้วนำพระราชาคณะ  25 รูปมาเข้าเฝ้า   ทูลขอพระราชทานอภัยโทษให้แม่ทัพนายกองทั้งหลาย   สมเด็จพระนเรศวรพระราชทานอภัยโทษให้โดยให้ทำดีถ่ายโทษ  โปรดฯ ให้เจ้าพระยาพระคลังไปตีทวายและเจ้าพระยาจักรีไปตีตะนาวศรี และมะริด




คุณธรรมที่ได้รับ

คุณธรรมที่ได้รับจากเรื่อง ลิลิตตะเลงพ่าย
1 .ความรอบคอบไม่ประมาท
ในเรื่องลิลิตตะเลงพ่ายนี้เราจะเห็นคุณธรรมของพระนเรศวรได้อย่างเด่นชัดและสิ่งที่ทำให้เราเห็นว่าพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถมากที่สุดคือ ความรอบคอบ ไม่ประมาท
ดั่งโคลงสี่สุภาพตอนหนึ่งกล่าวว่า
๖๒(๑๖๔) พระห่วงแต่ศึกเสี้ยน อัสดง
เกรงกระลับก่อรงค์ รั่วหล้า
คือใครจักคุมคง ควรคู่ เข็ญแฮ
อาจประกันกรุงถ้า ทัพข้อยคืนถึง
หลังจากที่พม่ายกกองทัพเข้ามาพระองค์ก็ทรงสั่งให้พ่ายพลทหารไปทำลายสะพานเพื่อว่าเมื่อฝ่ายไทยชนะศึกสงคราม พ่ายพลทหารของฝ่ายพม่าก็จะตกเป็นเชลยของไทยทั้งหมด นั่นแสดงให้เราเห็นว่าพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีทัศนคติที่กว้างไกล ซึ่งมีผลมาจากความรอบคอบไม่ประมาท
2 .การเป็นคนรู้จักการวางแผน
จากการที่เราได้รับการศึกษาเรื่องลิลิตตะเลงพ่ายเราจะเห็นได้ชัดเจนว่าในช่วงตอนที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเปลี่ยนแผนการรบเป็นรับศึกพม่าแทนไปตีเขมร พระองค์ได้ทรงจัดการวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอนอย่างไม่รอช้า ทรงแต่งตั้งให้พระยาศรีไสยณรงค์เป็นแม่ทัพหน้าและพระราชฤทธานนท์เป็นปลัดทัพหน้าตามด้วยแผนการอื่นๆอีกมากมายเพื่อทำการรับมือ และพร้อมที่จะต่อสู้กับข้าศึกศัตรูทางฝ่ายพม่า ยกตัวอย่างโคลงสี่สุภาพที่แสดงให้เราเห็นถึงการรู้จักการวางแผนของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
๖๓(๑๖๕) พระพึงพิเคราะห์ผู้ ภักดี ท่านนา
คือพระยาจักรี กาจแกล้ว
พระตรัสแด่มนตรี มอบมิ่ง เมืองเฮย
กูไกลกรุงแก้ว เกลือกช้าคลาคืน
เมื่อเราเห็นถึงคุณธรรมทางด้านการวางแผนแล้วเราก็ควรเอาเยี่ยงอย่างเพื่อใช้ในการดำเนินชีวิตให้เป็นไปอย่างมีระเบียบ มีแบบแผน ซึ่งจากคุณธรรมข้อนี้ก็อาจช่วยเปลี่ยนแปลงให้ท่านผู้อ่านทุกท่าน ให้กลายเป็นบุคคลที่มีคุณภาพชีวิตทางด้านการวางแผนในการดำเนินชีวิตก็เป็นได้ถ้าเรารู้จักการวางแผนให้กับตัวเราเอง
3. การเป็นคนรู้จกความกตัญญูกตเวที
จากบทการรำพึงของพระมหาอุปราชาถึงพระราชบิดานั้น แสดงให้เราเห็นอย่างเด่นชัดเลยทีเดียวว่าพระมหาอุปราชาทรงมีความห่วงใย อาทร ถึงพระราชบิดาในระหว่างที่ทรงออกรบ ซึ่งแสดงให้เราเห็นถึงความรักของพระองค์ที่มีต่อพระราชบิดา โดยพระองค์ได้ทรงถ่ายทออดความนึกคิด และรำพึงกับตัวเอง ดั่งโคลงสี่สุภาพที่กล่าวไว้ว่า
๕๑(๑๕๒) ณรงค์นเรศด้าว ดัสกร
ใครจักอาจออกรอน รบสู้
เสียดายแผ่นดินมอญ มอด ม้วยแฮ
เหตูบ่มีมือผู้ อื่นต้านทานเข็ญ
ซึ่งเมื่อแปลจะมีความหมายว่า เมื่อยามที่สงครามขึ้นใครเล่าจะออกไปรบแทนท่านพ่อ จากโคลงนี้ไม่ได้แสดงให้เราเห็นถึงความกตัญญูที่มีต่อพระราชบิดาของพระมหาอุปราชาเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีความกตัญญู ความ
จงรัก ภักดี ต่อชาติบ้านเมืองอีก
4. การเป็นคนช่างสังเกตและมีไหวพริบ
สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถทางด้านการมีความสติปัญญาและมีไหวพริบเป็นเลิศ ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชจะทรงมีคุณธรรมทางด้านการเป็นคนช่างสังเกตและมีไหวพริบ ด้วยเหตุนี้ทำให้พระองค์ทรงสามารถแก้ไขสถานการณ์อันคับขันในช่วงที่ตกอยู่ในวงล้อมของพม่าได้ ซึ่งฉากที่แสดงให้เราเห็นว่าพระองค์ทรงมีคุณธรรมทางด้านนี้คือ
๑๓๐(๒๙๖) โดยแขวงขวาทิศท้าว ทฤษฎี แลนา
บัด ธ เห็นขุนกรี หนึ่งไสร้
เถลิงฉัตรจัตุรพิรีย์ เรียงคั่ง ขูเฮย
หนแห่งฉายาไม้ ข่อยชี้เฌอนาม
๑๓๑(๒๙๗) ปิ่นสยามยลแท้ท่าน คะเนนึก อยู่นา
ถวิลว่าขุนศึกสำ- นักโน้น
ทวยทับเทียบพันลึก แลหลาก หลายแฮ
ครบเครื่องอุปโภคโพ้น เพ่งเพี้ยงพิศวง
สมเด็จพระนเรศวรทรงใช้วิธีการสังเกตหาฉัตร5ชั้นของพระมหาอุปราชา ทำให้พระองค์ทรงทราบว่าใครเป็นพระมหาอุปราชาทั้งๆที่มีทหารฝ่ายข้าศึกร่ายล้อมพระองค์จนรอบ แต่ด้วยความมีไหวพริบพระองค์จึงตรัสท้ารบเสียก่อนเพราะถ้าพระองค์ไม่ทรงตรัสท้ารบเสียก่อนพระองค์อาจทรงถูกฝ่ายข้าศึกรุมโจมตีก็เป็นได้ ดังนั้นเมื่อเราเห็นคุณธรรมของพระองค์ด้านนี้แล้วก็ควรยึดถือและนำไปปฏิบัติตามเพราะสิ่งดีๆเหล่านี้อาจก่อให้เกิดผลดีต่อตนเอง และต่อประเทศชาติได้
5. ความซื่อสัตย์
จากเนื้อเรื่องนี้เราจะเห็นได้ว่าบรรดาขุนกรีและทหารมากมายทั้งฝ่ายพม่าและฝ่ายไทยมีความซื่อสัตย์และความจงรักภักดี ต่อประเทศชาติของตนมากเพราะจากการที่ศึกษาเรื่องลิลิตตะเลงพ่ายเรายังไม่เห็นเลยว่าบรรดาทหารฝ่ายใดจะทรยศต่อชาติบ้านเมืองของตน ซึ่งก็แสดงให้เราเห็นว่าความซื่อสัตย์ในเราองเล็กๆน้อยๆก็ทำให้เราสามารถซื่อสัตย์ในเรื่องใหญ่ๆได้ซึ่งจากเรื่องนี้ความซื่อสัตย์เล็กๆน้อยๆของบรรดาทหารส่งผลให้ชาติบ้านเมืองเกิดความเป็นปึกแผ่นมั่นคงได้
เราก็เช่นเดียวกัน....ถ้าเรารู้จักมีความซื่อสัตย์ต่อตนเองดั่งเช่นบรรดาขุนกรี ทหารก็อาจนำมาซึ่งความเจริญและความมั่นคงในชีวิตก็เป็นได้ซึ่งสิ่งนี้อาจส่งผลประโยชน์ต่อตนเอง ต่อครอบครัวและชาติบ้านเมือง
5. การมีวาทศิลป์ในการพูด
จากเรื่องนี้มีบุคคลถึงสองท่านด้วยกันที่แสดงให้เราเห็นถึงพระปรีชาสามารถทางด้านการมีวาทศิลป์ในการพูด ท่านแรกคือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในโคลงสี่สุภาพที่ว่า
๑๗๗(๓๐๓) พระพี่พระผู้ผ่าน ภพอุต-ดมเอย
ไป่ชอบเชษฐ์ยืนหยุด ร่มไม้
เชิญการร่วมคชยุทธ์ เผยอเกียรติ ไว้แฮ
สืบว่าสองเราไซร้ สุดสิ้นฤามี
เราจะเห็นว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงใช้วาจาที่ไพเราะมีความสุภาพน่าฟังต่อพระมหาอุปราชาซึ่งเป็นพี่เมื่อครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรทรงประทับอยู่ทางฝ่ายพม่าท่านที่สองคือ สมเด็จพระวันรัต เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงมาขอพระราชทานอภัยโทษจากพระนเรศวร ให้กับบรรดาทหารที่ตามเสด็จพระนเรศวรในการรบไม่ทัน ซึ่งอยู่ในโคลงสี่สุภาพที่ว่า
๑๗๗(๓๕๗) พระตรีโลกนาถแผ้ว    เผด็จมาร
เฉกพระราชสมภาร    พี่น้อง
เสด็จไร้พิริยะราญ   อรินาศ ลงนา
เสนอพระยศยินก้อง       เ กียรติก้องทุกภาย
การมีวาทศิลป์ในการพูดของสมเด็จพระวันรัตครั้งนี้ทำให้บรรดาขุนกรี ทหารได้รับการพ้นโทษดังนั้นจากคุณธรรมข้อนี้ทำให้เราได้ข้อคิดที่ว่า การพูดดีเป็นศรีแก่ตัวเมื่อเราทราบเช่นนี้แล้วเราทุกคนก่อนที่จะพูดอะไรต้องคิดและไตร่ตรองให้ดีก่อนที่จะพูด

ข้อคิดจากเรื่อง
 1. ลิลิตตะเลงพ่ายสะท้อนให้เห็นความรักชาติ ความเสียสละ ความกล้าหาญ ของบรรพบุรุษ ซึ่งคนไทยควรภาคภูมิใจ
2. แผ่นดินไทยต้องผ่านการทำศึกสงครามอย่างมากมายกว่าที่จะมารวมกันเป็นปึกแผ่นอย่างปัจจุบันนี้
3. พระราชภารกิจของกษัตริย์ไทยในสมัยก่อน คือการปกครองบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุขและรบเพื่อปกป้องอธิปไตยของไทย

 คุณค่าจากเรื่อง
๑. เป็นวรรณคดีชั้นสูงของชาติซึ่งถือได้ว่าเป็นแบบอย่างที่ดีของวรรณคดีอื่นๆ
๒. ให้คุณค่าทางด้านวรรณศิลป์หลายประการ เช่น การเล่นคำ การแทรกบทนิราศคร่ำครวญ การใช้โวหารต่างๆ
การพรรณนาฉากที่ทำให้ผู้อ่านมีอารมณ์ร่วมและเกิดความรู้สึกคล้อยตาม
๓. ให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และลักษณะผู้ฟังที่ดี
๔. ปลุกใจให้คนไทยรักและเทิดทูนแผ่นดินไทยจนพร้อมที่จะเสียสละเพื่อบ้านเมืองได้